เกี่ยวกับโครงการ

ความเป็นมาโครงการ

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564) ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2565) โดยยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอานวยความสะดวก เช่น พัฒนาเส้นทางและรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องเพื่อลดต้นทุน (ราง - น้ำ - อากาศ) ซึ่งสนับสนุนนโยบายรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ให้บริการภาคขนส่งและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน และการแก้ไขปัญหาจราจร 

รายงานโลจิสติกส์ของประเทศไทยประจำปี 2562 พบว่า การขนส่งสินค้าทางบกยังคงเป็นการขนส่งหลักของประเทศที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 78.3 ของการขนส่งทั้งหมด ข้อมูลกรมการขนส่งทางบก พบว่า ปริมาณเที่ยวการขนส่งสินค้าทางบกด้วยรถบรรทุกมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าทางถนน ยังส่งผลกระทบต่อปัญหามลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวม ทั้งนี้ ร้อยละ 76 เป็นรถบรรทุกที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล ในขณะที่รถบรรทุกไม่ใช้เชื้อเพลิง (รถบรรทุกพ่วง) มีสัดส่วนร้อยละ 17 และรถบรรทุก CNG มีสัดส่วนร้อยละ 5 ตามลำดับ

ปัจจุบันสถานีขนส่งสินค้าชานเมืองกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำหน้าที่หลักเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าสำคัญ และเป็นกลไกสำคัญในการจัดระเบียบสินค้าและพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก ในปัจจุบันสถานีขนส่งสินค้าของกรมการขนส่งทางบกมีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ สถานีขนส่งสินค้าพุทธมณฑล สถานีขนส่งสินค้าคลองหลวง และสถานีขนส่งสินค้าร่มเกล้า มีรถบรรทุกขนส่งสินค้าประเภท 4 ล้อ 6 ล้อ 10 ล้อ และรถพ่วงเข้าใช้บริการสถานีทั้ง 3 แห่ง เฉลี่ย 2,142 คันต่อวัน ดังนั้น ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าจึงยังมีไม่เพียงพอต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ประกอบการ

ในมิติของการจราจรและสังคม การผสมผสานกระแสจราจรระหว่างรถบรรทุกกับรถประเภทต่างๆ บนถนนในช่วงเวลาไม่เหมาะสม ได้เพิ่มต้นทุนการขนส่งสินค้าแก่ผู้ประกอบการและลดความคล่องตัวของการจราจร นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติผู้ขับรถบรรทุกยังมีความเสี่ยงที่จะปฏิบัติหน้าที่ขับรถติดต่อกันเกินกว่ากฎหมายกำหนด (เกินสี่ชั่วโมงนับแต่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ขับรถ) โดยไม่สามารถจอดพักรถระหว่างทาง เนื่องจากการพัฒนาจุดพักรถที่เป็นแบบมาตรฐานเพื่อรองรับรถบรรทุกตามเส้นทางขนส่งสินค้าหลักยังมีไม่เพียงพอ ผู้ขับรถบรรทุกต้องจอดพักรถตามพื้นที่ริมทางหลวงหรือจอดบริเวณจุดห้ามจอด ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนนและเกิดปัญหาจราจรติดขัดในพื้นที่ ซึ่งเป็นผลกระทบด้านสังคม การจราจร และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลกระทบจากการสูญเสียประโยชน์ทางด้านรายได้ของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก

การจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ ยังไม่สามารถรองรับกิจกรรมโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอสาหรับการขนส่งสินค้าทางบก การขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกจำเป็นต้องมีสถานที่รวบรวมและกระจายสินค้าจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเส้นทางการเดินรถ ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการขนส่งสินค้าที่เหมาะสม เพื่อรองรับการเชื่อมโยงกับระบบการขนส่งอื่น โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากระบบขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุกไปสู่การขนส่งระบบราง ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกในการลดต้นทุนด้านการขนส่ง ช่วยลดปัญหาการเดินรถเที่ยวเปล่า และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง

วัตถุประสงค์การศึกษา

  • บูรณาการรูปแบบการพัฒนาสถานีเปลี่ยนถ่ายและกระจายสินค้าของประเทศเชื่อมการขนส่งสินค้าหลายรูปแบบ และพัฒนาจุดพักรถบรรทุกบนถนนโครงข่ายถนนสายหลักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและพื้นที่ต่อเนื่อง
  • จัดทำรูปแบบ (Model) มาตรการจากัดเวลารถบรรทุกเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • จัดทำแบบรายละเอียดมาตรฐาน (Standard Detailed Design) ของสถานีเปลี่ยนถ่ายและกระจายสินค้า และจุดพักรถบรรทุก จำนวนประเภทละ 1 แห่ง เพื่อเป็นโครงการนำร่อง
  • จัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมเพื่อรองรับการบังคับใช้มาตรการจำกัดเวลารถบรรทุกเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • จัดทำมาตรการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการขนส่งสินค้า 

ขอบเขตการศึกษา

งานส่วนที่ 1

งานศึกษา รวบรวมข้อมูล ทบทวนผลการศึกษาและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง

งานส่วนที่ 2

งานศึกษาสำรวจข้อมูลและพฤติกรรมการขนส่งสินค้าในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ต่อเนื่อง

งานส่วนที่ 3

จัดทำรูปแบบ (Model) มาตรการจำกัดเวลารถบรรทุกเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

งานส่วนที่ 4

งานจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมเพื่อรองรับมาตรการจำกัดเวลารถบรรทุกเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

งานส่วนที่ 5

งานศึกษาจัดทำมาตรการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการขนส่งสินค้า

งานส่วนที่ 6

การประเมินผลกระทบทางบวกและทางลบของโครงการ ครอบคลุมมิติด้านการจราจร เศรษฐกิจ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย

งานส่วนที่ 7

การสัมมนารับฟังความคิดเห็นและงานประชาสัมพันธ์

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

ฐานข้อมูลการขนส่งสินค้าในภาพรวมของ สนข. จากข้อมูลการคาดการณ์ปริมาณสินค้า ปริมาณการขนส่ง และปริมาณจราจรด้วยรถบรรทุกในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่ต่อเนื่อง

รูปแบบการนำมาตรการจำกัดเวลารถบรรทุกในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ข้อเสนอแนะแนวทางกำกับดูแลและดำเนินการตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมเพื่อรองรับมาตรการจำกัดเวลาบรรทุกเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

กรอบแนวทางดำเนินการ ข้อเสนอแนะ รูปแบบการพัฒนา แบบมาตรฐาน และมาตรการลดผลกระทบที่เกี่ยวข้องให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้ สามารถนำแผนไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม